รองโฆษก ปปง. เผย “มิน-แซม” แยก 2 คดี อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีอาญา ส่วนทรัพย์เป็นศาลแพ่ง ต้องให้ผู้เสียหายโต้แย้งว่าทรัพย์สินไม่ได้มาจากการกระทำผิดคดี “ดิไอคอน”
จากกรณีเมื่อวันที่ 8 ม.ค. อัยการสั่งไม่ฟ้อง น.ส.พีชญา วัฒนามนตรี หรือ มิน และ นายยุรนันท์ ภมรมนตรี หรือ แซม ทุกข้อกล่าวหาในคดี ดิไอคอน กรุ๊ป ซึ่ง ปปง. ได้มีมติให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 103 รายการ มูลค่าประมาณ 286 ล้านบาท เพื่อชดใช้คืนแก่ผู้เสียหาย ไปก่อนหน้านี้จะต้องดำเนินการอย่างไร
วันนี้ (9 ม.ค.) ที่สำนักงานปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) น.ส.สุปราณี สถิตชัยเจริญ ผู้อำนวยกองความร่วมมือและพัฒนามาตรฐาน ในฐานะรองโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. เปิดเผยว่า ต้องแบ่งเป็น 2 กรณี คดีอาญาและคดีแพ่ง ซึ่งพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีอาญา ส่วนคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินจะแยกจากกัน และไม่ตัดสิทธิ์บุคคลที่เคยถูกดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน สามารถยื่นคำร้องโต้แย้งทรัพย์ในชั้นศาลได้ ทั้งนี้ ให้แยกประเด็นกันว่าการไม่สั่งฟ้องทางคดีอาญากับเรื่องการยึดอายัดทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดหรือไม่นั้น จะต้องมีการพิสูจน์ทราบกันข้อเท็จจริงอีกครั้ง
เมื่อถามว่าทาง ปปง. ต้องนำความเห็นของอัยการคดีพิเศษ มาตรวจสอบว่าทำไมสั่งไม่ฟ้อง น.ส.สุปราณี กล่าวว่า ในกระบวนการของ ปปง. สิ้นสุดการยึดอายัดทรัพย์เสร็จสิ้นแล้ว ส่งไปทางอัยการและทางศาลแล้ว ดังนั้น หากโต้แย้งเรื่องการยึดอายัดทรัพย์ก็ต้องไปดำเนินการต่อในชั้นศาลแพ่ง โดย “มิน-แซม” ต้องแย้งทางศาลแพ่ง ว่าทรัพย์ไม่ได้มาจากการกระทำผิดเชื่อมโยงธุรกิจดิไอคอนกรุ๊ป
เมื่อถามว่ามีผลกระทบหรือไม่ หาก ปปง. ยึดทรัพย์มาก่อนและหากอัยการไม่สั่งฟ้อง น.ส.สุปราณี กล่าวว่า ปปง. ยึดตามกรอบกฎหมาย เพราะมาตรการปราบปรามการฟอกเงินเป็นตามหลักสากล เพื่อดำเนินการยึดอายัดทรัพย์ไว้ก่อนป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายรุนแรงมากกว่านี้ รวมถึงผลักภาระการพิสูจน์ไปให้ที่คนเป็นเจ้าของทรัพย์มาชี้แจงว่าทรัพย์ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ซึ่งต่างจากกระบวนการทางอาญา เพราะคดีอาญา เจ้าหน้าที่จะต้องพิสูจน์ แต่มาตรการยึดทรัพย์ทางแพ่งเป็นตามกฎหมายฟอกเงิน ซึ่งทำอย่างโปร่งใสเป็นธรรม สุจริตและตรวจสอบได้
“หลายคดีพบว่าไม่กระทำผิดทางอาญา แต่เกี่ยวข้องกับทรัพย์ที่ได้มาจากกระทำความผิด เช่น คดียาเสพติด มีคนได้รับทรัพย์จากคดียาเสพติดและจะถูกตามยึดอายัดทรัพย์ได้ แต่ไม่ได้ถูกสั่งฟ้องเรื่องการค้ายา เพื่อตัดวงจรอาชญากรรมไม่ให้มีท่อน้ำเลี้ยงดำเนินการทางการเงินได้”
น.ส.สุปราณี กล่าวเสริมว่า ตามหลักการกฎหมายฟอกเงิน ผู้เสียหายที่ประสงค์จะเข้ารับการคุ้มครองสิทธิ์ สามารถยื่นคำร้องมาได้ แต่ต้องแสดงหลักฐานตนให้ชัดเจน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน หรือกรณีมอบบุคคลอื่นมาก็ต้องมีใบมอบอำนาจ พยานหลักฐานเส้นทางการเงินว่ามีความเสียหายจำนวนเท่าไหร่ เอกสารการแจ้งความ หรือพฤติการณ์ทางคดีว่าเกิดความเสียหาย เพื่อยืนยันเป็นผู้เสียหาย และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการตรวจสอบค่อนข้างยุ่งยากเนื่องจากคดีดิไอคอน มีความเสียหายเป็นวงกว้างและข้อมูลพยานหลักฐานค่อนข้างเยอะ จึงต้องใช้เวลารวบรวมข้อมูล โดยผู้เสียสามารถยื่นคำร้องได้จนถึงวันที่ 17 ก.พ.68