กรมศุลกากรตรวจยึดบุหรี่ไฟฟ้า ก๊าซไนตรัสออกไซด์ และตู้แลกเหรียญอัตโนมัติ มูลค่ารวมกว่า 30 ล้านบาท
วันนี้ (วันอังคารที่ 24 ธันวาคม 2567) เวลา 14.30 น. นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร และนางนันท์ฐิตา ศิริคุปต์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ร่วมกันแถลงข่าว “กรมศุลกากรตรวจยึดบุหรี่ไฟฟ้า ก๊าซไนตรัสออกไซด์ และตู้แลกเหรียญอัตโนมัติ มูลค่ารวมกว่า 30 ล้านบาท” ณ ศูนย์แถลงข่าว อาคาร 1 ชั้น 2 กรมศุลกากร คลองเตย
นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษก กรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด ด้านกระทรวงการคลัง โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จึงขานรับนโยบายและสั่งการให้กรมศุลกากรเข้มงวดกวดขันในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเฝ้าระวังและเร่งปราบปรามผู้กระทำความผิด จับกุมผู้ลักลอบนำเข้าและผู้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า – อุปกรณ์ส่วนควบอย่างจริงจัง เด็ดขาด และต่อเนื่อง รวมถึงบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ตลอดจนบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อสืบสวนหาข่าวลักลอบการนำเข้า
โดยเมื่อวันที่ 17 และ 19 ธันวาคม 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ ได้ทำการตรวจสอบสินค้านำเข้าจากประเทศจีน จำนวน 2 ตู้คอนเทนเนอร์ ผลการตรวจสอบพบสินค้าที่ไม่ได้แสดงในใบขนสินค้า รวมมูลค่ากว่า 30 ล้านบาท ได้แก่
1. บุหรี่ไฟฟ้าชนิดใช้แล้วทิ้ง จำนวน 112,600 ชิ้น มูลค่า 28.15 ล้านบาท ซึ่งของดังกล่าวเป็นของต้องห้ามนำเข้าตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า
เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ออกตามความในพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
2. ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (ก๊าซหัวเราะ) บรรจุในกระบอกอัดก๊าซ น้ำหนัก 5 กิโลกรัม/กระบอก ปริมาณรวม 770 กระบอก มูลค่า 1.925 ล้านบาท ซึ่งของดังกล่าวจัดเป็นของที่ต้องได้ใบอนุญาตการนำเข้า
จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 4 (4) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับ
ให้เกิดผลแก่สุขภาพ โครงสร้าง หรือการกระทำหน้าที่ใด ๆ ของร่างกายของมนุษย์หรือสัตว์ ประกอบมาตรา 12
3. ตู้แลกเหรียญอัตโนมัติ (coin changer) ปริมาณรวม 18 ตู้ มูลค่า 360,000 บาท
กรณีนี้เป็นความผิดฐานนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร โดยการแสดงข้อมูลซึ่งเกี่ยวกับการเสียอากร ไม่ถูกต้องหรือไม่บริบูรณ์เพื่อหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้าม และข้อจำกัด อันเป็นความผิดตามมาตรา 202 243 244 ประกอบมาตรา 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 รวมถึงพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 4 (4) ประกอบมาตรา 12 และพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า
พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ทั้งนี้ โฆษกกรมศุลกากรกล่าวต่ออีกว่า “สำหรับสถิติการจับกุมบุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ในปีงบประมาณ 2568 (1 ตุลาคม 2567 – 23 ธันวาคม 2567) จำนวน 103 ราย ปริมาณ 416,560 ชิ้น
มูลค่า 39.07 ล้านบาท ทั้งนี้ กรมศุลกากรขอย้ำเตือน ให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออก โดยกรมศุลกากรจะดำเนินการตรวจสอบและปราบปรามการกระทำผิดอย่างเข้มงวด เพื่อปกป้องสังคมและผลประโยชน์ของประเทศต่อไป ”