รมว.ยุติธรรม มอบนโยบายผู้บริหารงานราชทัณฑ์ทั่วประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เร่งยกระดับการปฏิบัติงานราชทัณฑ์ มอบแนวทางและนโยบาย ในการประชุมผู้บริหารงานราชทัณฑ์ทั่วประเทศ ครั้งที่ 4/2567 วันนี้ (23 ธ.ค.67) เวลา 08.00 น. ที่ห้องสัมมนากรมราชทัณฑ์ ชั้น 3 จ.นนทบุรี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) เป็นประธานในการประชุมผู้บริหารงานราชทัณฑ์ทั่วประเทศ ครั้งที่ 4/2567 โดยมี นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ พ.ต.ท.เชน กาญจนาปัจจ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายปฏิบัติการ และ นายชาญ วชิรเดช รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายบริหาร พร้อมด้วยผู้บัญชาการเรือนจำ/ผู้อำนวยการทัณฑสถานทั่วประเทศ เข้าร่วมรับฟังแนวทางและนโยบาย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) ได้ให้แนวทางและนโยบาย ในการปฏิบัติงานราชทัณฑ์เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนผู้ก้าวพลาดให้สามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีคุณภาพ โดยเน้นย้ำให้กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการพัฒนาพฤตินิสัย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ต้องขัง เพื่อไม่ให้กลับไปกระทำผิดอีก สร้างภูมิคุ้มกันในการใช้ชีวิตของผู้กระทำผิด ด้วยการบำบัดฟื้นฟู ตลอดจนให้การศึกษา ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ต้องขัง เพื่อเป็นการสร้างชีวิตใหม่ภายหลังพ้นโทษ อีกทั้ง การจำแนกประเภทของเรือนจำ โดยเฉพาะการควบคุมดูแลผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี ซึ่งอยากเห็นความชัดเจนของการแยกควบคุมระหว่างนักโทษเด็ดขาด กับผู้ที่ยังอยู่ระหว่างพิจารณคดี เพื่อให้เขาเหล่านี้ได้รับการปฏิบัติที่เป็นไปตามกฎหมาย สร้างความปลอดภัย และความเชื่อมั่นให้กับสังคม จากการประชุมดังกล่าว นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 นี้ กรมราชทัณฑ์ ยังคงเดินหน้ายกระดับการปฏิบัติงานราชทัณฑ์อย่างเต็มกำลัง ด้วยการรวมพลังขับเคลื่อน 8 มิติ ยกกำลัง 2 สร้างคนดีคืนสังคม ซึ่งประกอบด้วย มิติที่ 1 การขับเคลื่อนการดำเนินโครงการพระราชทาน (Action Plan) ของโครงการราชทัณฑ์ปันสุข พร้อมจัดตั้งสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดทุกเรือนจำ และพัฒนาห้องสมุดให้เป็นมาตรฐานเดียวกับ “ห้องสมุดพร้อมปัญญา” มิติที่ 2 พัฒนาสู่ Smart Prison กำหนดมาตรฐานรูปแบบ และองค์ประกอบสำหรับการก่อสร้างเรือนจำแห่งใหม่ พัฒนาสุขาภิบาลอาหารในเรือนจำให้เป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีในการผลิตอาหาร พร้อมการดำเนินโครงการ Green Prison อย่างต่อเนื่อง มิติที่ 3 ยกระดับดัชนีหลักนิติธรรม (Rule of Law Index) ได้แก่ การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีให้เป็นไปตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ ทั้งกายภาพและแนวทางการปฏิบัติ ประเภทหรือชั้นของเรือนจำ รวมถึงการบังคับโทษด้วยวิธีการอื่นนอกจากการควบคุมขัง หรือจำคุกไว้ในเรือนจำ มิติที่ 4 ปรับเปลี่ยนพฤตินิสัยผู้ต้องขัง ด้วยการบำบัดฟื้นฟูผู้ต้องขังคดียาเสพติดอย่างเหมาะสม และการนำร่องเรือนจำเฉพาะทาง เช่น เรือนจำกีฬา เรือนจำอุตสาหกรรม ตลอดจน การขับเคลื่อนมาตรการฟื้นฟูตาม พ.ร.บ.การป้องกันการกระทำผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับทางเพศหรือการใช้ความรุนแรง พ.ศ 2565 มิติที่ 5 นำร่องการศึกษาต้นแบบและสร้างความเป็นเลิศทางอาชีพ โดยการจัดหลักสูตรการศึกษาทางเลือกในเรือนจำต้นแบบ 11 แห่ง การอ่านหนังสือประกอบการพิจารณาเลื่อนชั้นกรณีปกติสำหรับนักโทษเด็ดขาด สร้างงาน สร้างอาชีพ ร่วมกับหน่วยงานภายนอก รวมถึงพัฒนามาตรฐานโรงงานฝึกวิชาชีพต้นแบบ มิติที่ 6 ส่งคืนคนคุณภาพสู่สังคม ขับเคลื่อนงานอาสาสมัครราชทัณฑ์ กำหนดแนวทางของศูนย์ C.A.R.E ให้สอดคล้องกับศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม และจัดตั้งองค์กรรองรับการทำงานของผู้พ้นโทษ มิติที่ 7 สรรค์สร้างภาพลักษณ์ผ่าน Soft Power ด้วยผลิตภัณฑ์ฝีมือผู้ต้องขัง สร้างการับรู้ให้แก่สังคม ตลอดจนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการให้โอกาส/การยอมรับผู้พ้นโทษ และสุดท้าย มิติที่ 8 พัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อนงานราชทัณฑ์ สร้างเส้นทางความก้าวหน้าในสายงานอาชีพให้ชัดเจน รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเจ้าหน้าที่ และการอบรมพัฒนาบุคลากรทุกระดับโดยการใช้ระบบ e – learning กรมราชทัณฑ์ พร้อมเดินหน้าพัฒนา และยกระดับงานราชทัณฑ์ ให้สามารถปรับเปลี่ยนผู้ก้าวพลาดได้กลับคืนสู่สังคมอย่างปกติสุขไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก เพื่อป้องกันและสร้างความปลอดภัย คืนชีวิตใหม่ให้กับผู้ก้าวพลาดต่อไป