วันที่ 23 พฤศจิกายน 2567 พลเรือเอก จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ และคณะ เดินทางไปตรวจเยี่ยมหน่วยกองทัพเรือในพื้นที่ ทัพเรือภาคที่ 3 จังหวัดภูเก็ต และฐานทัพเรือพังงา อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา เพื่อเยี่ยมชมการปฏิบัติงานและบำรุงขวัญกำลังใจแก่กำลังพล โดยมี พลเรือโท สุวัจ ดอนสกุล ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 และ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ภาค 3 และ พลเรือตรี กนกพล พิมพ์ทอง ผู้บัญชาการฐานทัพเรือพังงา ให้การต้อนรับ
ในการนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือได้ตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ และได้กล่าวให้โอวาทแก่กำลังพลที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยกล่าวว่า
“ ภารกิจของหน่วยกำลังรบในพื้นที่ ทัพเรือภาคที่ 3มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการปกป้องรักษา เอกราชอธิปไตยของชาติ การเสริมสร้างความมั่นคง และการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจที่ได้รับมอบจากรัฐบาล ซึ่งผมทราบดีถึงความตรากตรำในการปฏิบัติภารกิจภายใต้ข้อจำกัดหลาย ๆ ด้าน แต่จากผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมาของท่านทั้งหลาย ได้ทำให้กองทัพเรือเป็นที่ยอมรับและศรัทธาของพี่น้องประชาชน รวมทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่รับผิดชอบ
มาโดยตลอด ”
จากนั้น ผู้บัญชาการทหารเรือ และคณะนายทหารระดับสูงของกองทัพเรือ ร่วมรับฟังการบรรยายสรุปภารกิจ รวมถึงอุปสรรค และข้อขัดข้องในการปฏิบัติงานของหน่วยงานในทัพเรือภาคที่ 3 รวมถึง ความเป็นอยู่ของกำลังพล โดยเน้นย้ำการดูแลสวัสดิการแก่กำลังพลในทุกระดับชั้นเพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต
ในเวลาต่อมา ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยม กองพันต่อสู้อากาศยานที่ 22 โดยดูแลสภาพความเป็นอยู่ของทหารกองประจำการ จากนั้นได้เดินทางไปตรวจ ความก้าวหน้าการก่อสร้างอาคารกองบัญชาการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ภาค 3 รวมถึงตรวจพื้นที่ที่จะก่อสร้างศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือจังหวัดพังงา ศรชล.ภาค 3 ซึ่งตั้งอยู่ภายในพื้นที่ฐานทัพเรือพังงา อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา
สำหรับทัพเรือภาคที่ 3 มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการป้องกันราชอาณาจักร และรักษาความมั่นคง รวมทั้งผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ตลอดจนการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบฝั่งทะเลอันดามัน รวมพื้นที่รับผิดชอบทั้งสิ้น 6 จังหวัด ดังนี้ คือ ระนอง พังงา ภูเก็ต ตรัง กระบี่ และ สตูล
ในส่วนศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 3 มีหน้าที่ อำนาจ และการรับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือประโยชน์อื่นใดในเขตทางทะเลไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม โดยรับผิดชอบในพื้นที่ด้านทะเลอันดามัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ในทุก ๆ ด้าน เช่น ด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านทรัพยากร หรือด้านสิ่งแวดล้อม โดนเน้นการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ของ ศรชล. ซึ่งประกอบด้วย 7 หน่วยงาน อันได้แก่ กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมศุลกากร กรมทรัพยากรทางทะเลฯ กองบังคับการตำรวจน้ำ และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน