ตำรวจ ปปป.ร่วม ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. ปฎิบัติการ “ล้างบาง Spot check”
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริต และ
ประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้สั่งการให้
พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก. ,พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผบก.ปปป., พ.ต.อ.สุมรภูมิ ไทยเขียว รอง ผบก.ปปป., พ.ต.อ.เพิ่มวุฒิ ประทุมราช ผกก.1 บก.ปปป., พ.ต.อ.สิทธิพร กะสิ ผกก.2 บก.ปปป., พ.ต.อ.ธณัชชนม์ เก่งกสิกิจ ผกก.3 บก.ปปป. และ เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน บก.ปปป.
สำนักงาน ป.ป.ช. ภายใต้การอำนวยการของ นายนิวัติชัย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. นายศรชัย ชูวิเชียร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และนายสุขสันต์ ประสาระเอ ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ มอบหมายให้ นายไพโรจน์ นิยมเดชา ผู้อำนวยการกลุ่มสืบสวนและปฏิบัติการข่าว 2 และเจ้าหน้าที่สำนักสืบสวนฯ
สำนักงาน ป.ป.ท. ภายใต้การอำนวยการของ นายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการ ป.ป.ท. และ นายเอกชัย เกษมสุขธวัช รองเลขาธิการฯ มอบหมายให้ พ.ต.ท.สิริพงษ์ ศรีตุลา ผู้อำนวยการกองปราบการทุจริตในภาครัฐ 2 และพ.ต.ท.สราวุธ คำเหลือง ผู้อำนวยการกองอำนวยการต่อต้านการทุจริต
ร่วมกันจับกุมผู้ต้องหา
1.นายนพดลฯ อายุ 57 ปี ผู้ต้องหา ตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 3
ที่ 32/67 ลงวันที่ 2 ก.ย. 2567
2.นายเอนกฯ อายุ 59 ปี ผู้ต้องหา ตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 3
ที่ 33/67 ลงวันที่ 2 ก.ย. 2567
3.นายธงชัยฯ อายุ 38 ปี ผู้ต้องหา ตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 3
ที่ 34/67 ลงวันที่ 2 ก.ย. 2567
โดยกล่าวหาว่า ผู้ต้องหาที่ 1 และผู้ต้องหาที่ 2 การกระทำความผิดฐาน “เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเจ้าพนักงานของรัฐร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต” อันเป็นความผิดตาม ป.อาญา ม.157 ประกอบ ม.83 และ พ.ร.ป.ปปช. ม.172 ประกอบ ป.อาญา ม.83
ผู้ต้องหาที่ 3 มีความผิดฐาน เป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และสนับสนุนเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นความผิดตาม
ป.อาญา ม.157 ประกอบ ม.83 และ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ม.172 ประกอบป.อาญา ม.83
สถานที่จับกุม ผู้ต้องหาที่ 1 ในพื้นที่ ต.เมืองงาย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
ผู้ต้องหาที่ 2 ในพื้นที่ ต.คลองศาลาพัฒนา อ.เมืองเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์
ผู้ต้องหาที่ 3 ในพื้นที่ ต.นาเสียว อ.เมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ
พฤติการณ์เมื่อเดือน มิ.ย.66 นายกสมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยได้มีหนังสือถึงจเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) ขอให้ตรวจสอบสืบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทุจริตคอรัปชั่นส่วยรถบรรทุก
จากการสืบสวน พบว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัด สำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง มีพฤติการณ์เรียกรับเงินจากผู้ประกอบการรถบรรทุก รายละ 100,000 บาท เพื่อให้สามารถบรรทุกน้ำหนักเกินได้และไม่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุม
ซึ่งกระทำการโดยชุดเฉพาะกิจของกรมทางหลวง โดยมีนายนพดลฯ ซึ่งในขณะเกิดเหตุ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าด่านชั่งน้ำหนัก และนายเอนกฯ ซึ่งในขณะเกิดเหตุ ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและจับกุมผู้กระทำความผิดในการบรรทุกน้ำหนักเกิน ได้อาศัยตำแหน่งหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการรถบรรทุก เพื่อแลกกับการไม่จับกุม ปล่อยให้ผู้ประกอบการรถบรรทุก นำรถบรรทุกน้ำหนักเกิน มาวิ่งบนท้องถนน จึงถือได้ว่าผู้ต้องหาทั้งสองมีพฤติการณ์ในการรับเงินจากผู้ประกอบการโดยตรง และโอนเงินส่วนหนึ่งเข้าบัญชีของนายนพดลฯ
นอกจากนี้ยังมี นายธงชัยฯ หรือ นายบอย ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง คอยเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการเจ้าต่างๆ และนำเงินไปส่งมอบให้นายนพดลฯ ผ่านการใช้บัญชีม้าชื่อ นายประทินฯ หรือ นายโทน ใช้รับโอนเงินและทำธุรกรรมต่างๆ
ในเวลาต่อมา พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผบก.ปปป. ได้สั่งการให้จัดตั้งชุดสืบเฉพาะกิจ บก.ปปป. ดำเนินการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ และติดตามหาตัวผู้ต้องหาทุกรายที่ปรากฏรายชื่อในชุดเฉพาะกิจของกรมทางหลวงของนายนพดลฯ
จนเมื่อวันที่ 2 ก.ย.67 เวลาประมาณ 14.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป. นำโดยชุดสืบ บก.ปปป. ได้สนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. เข้าจับกุมตัว นายนพดลฯ
และต่อมาในเช้าวันที่ 3 ก.ย.67 ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ เข้าจับกุมตัว นายเอนกฯ และ นายธงชัยฯ ก่อนนำตัวผู้ต้องหาทั้ง 3 รายเข้าตรวจค้นตามจุดต่างๆ ซึ่งต้องสงสัยว่ามีพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นภายในกรมทางหลวง รวมไปถึงตรวจค้นด่านชั่งน้ำหนักที่ผู้ต้องหาได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ด้วย รวม 11 จุด
จากการตรวจสอบเบื้องต้นทราบว่ามีชุดเฉพาะกิจ ดังกล่าวกระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 10 ชุด และได้ตรวจสอบย้อนหลังตั้งแต่ปี 2562-2566 ทราบว่า มีผู้เสียหายรวมมากกว่า 30 ราย ค่าเสียหายรวม 200 ล้านบาท และเงินส่วยหมุนเวียนแต่ละเดือนไม่ต่ำกว่า 3,000,000 บาท
จากนั้นได้ส่งตัวผู้ต้องหาให้เจ้าพนักงานตำรวจ บก.ปปป. ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
สอบถามปากคำเบื้องต้น ผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย ยังให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา