ปราจีนบุรี-ชาวบ้านตื่นแต่ค่อนรุ่งสืบสานประเพณีบุญข้าวประดับดิน
เมื่อเวลา 03 .00 น.วันนี้ 2 ก.ย.67 ผู้สื่อข่าว จ.ปราจีนบุรีรายงานว่า ในวันพระ หรือ วันธรรมสวนะ ที่วัดหนองสังข์ไลอุทิศ ม.3 ต.บ้านนา อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ชาวบ้านร่วมกันทำบุญสืบสานประเพณี
“บุญข้าวประดับดิน” เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาจากทางภาคอีสาน เพื่ออุทิศให้แก่ผู้ที่ล่วงลับ ซึ่งพื้นถิ่นแถบย่านนี้พูดภาษาถิ่นอิสาน จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี มาตั้งแต่บรรพบุรุษ”บุญข้าวประดับดิน” หรือ บุญเดือนเก้า ตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ของทุกๆ ปี และแพร่หลายสืบ ๆต่อกันมาถึงปัจจุบัน
น.ส.กัลป์ปัส ไชยาเปรมปรีดิ์ ชาวบ้านกล่าวว่า ประเพณีบุญข้าวประดับดิน เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ชาวบ้านจะทำห่อข้าวน้อย อาหารหวานคาว หมากพลู มาทำบุญเพื่ออุทิศให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งชาวบ้านได้ร่วมกันทำบุญข้าวประดับดินเป็นประจำทุกปี
และกล่าวต่อไปว่า “บุญข้าวประดับดิน” เป็นประเพณีการทำบุญเดือนเก้า ของชาวอีสาน ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในพื้นที่หลายจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย สำหรับประเพณีบุญข้าวประดับดินถือเป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับ รวมไปถึงสัมภเวสี เปรต สัตว์นรก ฯลฯ
เมื่อถึงวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ของทุกปี ชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญข้าวประดับดิน โดยการใช้ใบตองห่ออาหารคาวหวาน ข้าวเหนียวนึ่งสุก ผลไม้ หมาก พลู เมี่ยง และบุหรี่ ทำเป็นห่อเล็กๆ (เรียกว่ายายห่อข้าวน้อย) แล้วนำไปวางบริเวณรอบกำแพงวัด รอบฐานเจดีย์ หรือรอบโบสถ์ ตลอดจนใต้โคนต้นไม้ใหญ่ เพื่อให้การทำบุญครั้งนี้ส่งไปถึงผู้ล่วงลับและสัมภเวสีทั้งหลาย ทั้งนี้ ประเพณีบุญข้าวประดับดินยังถือเป็นวันสำคัญที่ชาวบ้านจะทำทานให้แก่ผู้ยากไร้ รวมถึงช่วยเหลือสัตว์น้อยใหญ่อีกด้วย
ประเพณีบุญข้าวประดับดินมีความเชื่อมโยงกับเรื่องราวสมัยพุทธกาล เชื่อว่ามีที่มาจากนิทานธรรมบทที่เล่ากันว่า “พระญาติของพระเจ้าพิมพิสาร” ได้ขโมยเงินวัดในสมัยที่ยังมีชีวิต เมื่อตายไปก็เกิดเป็นเปรตในนรก ต่อมาพระเจ้าพิมพิสารทรงถวายทานแด่พระพุทธเจ้า ทว่าลืมอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ พอตกกลางคืนก็ทรงได้ยินเสียงผีเปรต ซึ่งเป็นพระญาติที่เสียชีวิตไปแล้วมาส่งเสียงร้องโหยหวนใกล้พระราชวัง จึงทรงกลับไปทูลถามพระพุทธเจ้าและอุทิศส่วนกุศลใหม่ จึงกลายเป็นที่มาของความเชื่อประเพณีบุญข้าวประดับดินนั่นเอง
“บุญข้าวประดับดิน” กับ “บุญข้าวสาก” แตกต่างกันหรือไม่
ทั้งสองประเพณีนี้เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับเหมือนกัน แต่มีความแตกต่างกันในเรื่อง “วันและเดือน” ที่กำหนดขึ้นเพื่อทำบุญ ประเพณีบุญข้าวประดับดิน (ทำบุญเดือนเก้า) ตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ถือเป็นการทำบุญแบบรวมทั้งหมด ไม่จำกัดว่าต้องอุทิศไปให้ใคร ส่วนประเพณีบุญข้าวสาก (ทำบุญเดือนสิบ) ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 โดยจะจัดขึ้นเพื่อทำบุญให้แก่บรรพบุรุษและญาติผู้ล่วงลับ ซึ่งจะมีการระบุชื่อไว้อย่างชัดเจน