ตามนโยบายของ พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล
ผบ.ตร. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผบ.ตร.และ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. และพล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. ให้เร่งปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับคดีออนไลน์ ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนนั้น
เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2567 พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. , พ.ต.อ.ธีรศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ รอง ผบก สส.บช.น. , พ.ต.อ.จักราวุธ คล้ายนิล ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สส.บช.น. , พ.ต.ท.พัชรพงษ์ กาญจนวัฎศรี , พ.ต.ท.นิธิ ปิยะพันธุ์ รอง ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สส.บช.น. สั่งการให้ชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ท.ศราวุฒิ พิมพ์สุภาพร สว.ฯ ร.ต.ต.วิทยา ศรีกระจ่าง รอง สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สส.บช.น. ร่วมกับนักเรียนหลักสูตรการสืบสวนคดีอาญา รุ่นที่ 115 ร.ต.อ.สุวัฒน์ สายปัญญา,ร.ต.อ.วิเชียรไกร ไทยเสถียร,ร.ต.อ.อาชวินทร์ อ่องวงศ์,ร.ต.อ.หญิง พรอุษา จันทร์คง,ร.ต.อ.ชยุต อินทรครรชิต,ร.ต.ท.ปราชญ์ สอาดยิ่ง ดำเนินการจับกุม
น.ส.ดาริกา อายุ 39 ปี ภูมิลำเนาจ.ปราจีนบุรี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญามีนบุรี ที่ จ 1124/2567 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2567
ซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดฐาน “ฉ้อโกงประชาชนและโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” จับกุมบริเวณลานจอดรถห้างสรรพสินค้า ซอยสุขุมวิท 19 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กทม.
.
พฤติการณ์ที่เป็นเหตุให้ถูกออกหมายจับ เมื่อประมาณเดือนมกราคม พ.ศ.2565 น.ส.สุพรรณี ผู้กล่าวหา ได้ทำการซื้อสินค้าประเภทเครื่องสำอางแบรนด์เนม จากหน้าเพจฝากขายอินสตาแกรม (ig) ซึ่ง นางสาวดาริกา ผู้ต้องหา ฝากขายและผู้กล่าวหาได้รู้จักผู้ต้องหาโดยเห็นจากหน้าเพจฝากขายอินสตาแกรม (ig) ของ beauticity.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์ขายสินค้าของผู้ต้องหาโดยผู้กล่าวหาได้แอดไลน์หาส่วนตัว เพราะเห็นว่าผู้ต้องหาขายสินค้าราคาถูกกว่าหน้าร้านปกติทั่วไป ซึ่งผู้กล่าวหาซื้อจริง มีสินค้าจริงแต่ซื้อปริมาณสินค้าน้อยมีมูลค่าหลักร้อยบาท ถึงหลักพันบาท และเป็นการซื้อผ่านแอปพลิเคชัน ระหว่างนี้ผู้ต้องหาพยายามพูดชักชวนผู้กล่าวหาให้ลงทุนซื้อสินค้าดังกล่าวมาขายเอง โดยผู้ต้องหาเสนอว่ามีสินค้าอีกจำนวนมากแต่เป็นของพี่สาวผู้ต้องหาจะเอามาขายให้ผู้กล่าวหาและจะหาลูกค้าซื้อสินค้าให้ ผู้กล่าวหาจึงตกลงซื้อสินค้ามาขาย และเริ่มซื้อสินค้าเงินหลักหมื่นบาท เนื่องจากผู้ต้องหาได้ส่งสินค้าให้ตามที่ตกลง ต่อมาผู้ต้องหาได้ชวนให้ซื้อสินค้ามาขาย จำนวนล็อตใหญ่ขึ้นเรื่อยๆโดยใช้กลอุบายต่างๆ มาหลอกลวงทำให้ผู้กล่าวหาหลงเชื่อ สั่งสินค้ามาขายเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,809,590 บาท และผู้ต้องหาได้นำสินค้ามาส่งให้ผู้กล่าวหาคิดเป็นเงิน ๕๗๒,๙๓๐ บาท และผู้ต้องหายังไม่ส่งสินค้าให้ผู้กล่าวหา คิดเป็นเงินรวมจำนวน 1,236,660 บาท เมื่อผู้ต้องหาขอตรวจสอบว่าผู้ต้องหาได้โอนเงินไปชำระค่าสินค้าที่บัญชีธนาคารใด ผู้ต้องหาก็ไม่สามารถให้คำตอบได้ จึงเชื่อว่าถูกผู้ต้องหาหลอกลวงมาแต่ต้น จึงเข้าพบพนักงานสอบสวน สน.โคมคราม เพื่อแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมาย
.
ในชั้นจับกุม ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา งทำบันทึกการจับกุม และ นำตัวผู้ถูกจับส่งพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ สน.โคกคราม เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
.
พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ฝากเตือนว่า การซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์ได้กลายมาเป็นตัวเลือกอันดับแรกของใครหลายๆ คน ทั้งสะดวก ประหยัดเวลา อย่างไรก็ตาม ย่อมทำให้มิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาในโลกอินเตอร์เน็ตมากขึ้นด้วย ฉะนั้นมาป้องกันไม่ให้เราตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ด้วยวิธีการเบื้องต้น ดังนี้ ตรวจสอบและเปรียบเทียบราคาสินค้าจากหลายๆร้าน เลือกซื้อของจาก Official store หรือแพลตฟอร์มที่ไว้ใจได้ เก็บหลักฐานการโอนเงินไว้เสมอ ทำลายข้อมูลส่วนตัวบนกล่องพัสดุ ตรวจสอบบัญชีผู้โอน สืบประวัติของผู้ขายเบื้องต้น โดยนำเลขที่บัญชีหรือชื่อของผู้ขายไปค้นหาบน Google เพื่อที่จะหาประวัติว่าเคยมีคนโพสต์เกี่ยวกับการฉ้อโกงในการซื้อของหรือไม่ โอกาสที่เราจะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพจะเกิดขึ้นน้อยมากหากเราใช้ “สติ”